top of page

DIGITAL MAGAZINE FOR DOG LOVERS

DOG DOMPANY

นิตยสารกึ่งรายการโทรทัศน์เพื่อคนรักสุนัข

ลุงหนวด ELEGANT เล่าเรื่องบูลลี่ให้น้องฟัง

 

สำหรับเพื่อนๆ ชาว Dog Company  ผู้ที่มีความรักชอบในสุนัขสายพันธุ์บูลลี่ คงมีหลายๆ คนสงสัยว่า สุนัขสายพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดมายังไง และมีกี่แบบกันแน่ เพราะสุนัขบูลลี่ที่เคยเจอ ทำไมหน้าตา รูปร่าง มันไม่เหมือนกันเลยแต่ เรียกบูลลี่เหมือนกัน วันนี้ ทาง Dog Company จะมาไขข้อข้องใจให้เพื่อนๆ ที่ยังค้างคาใจในเรื่องนี้กัน โดย กูรูผู้ที่จะมาให้ความรู้กับเราในฉบับนี้ก็คือ คุณไพโรจน์ ธารารัตน์ หรือในวงการสุนัขจะเรียกกันว่า “ลุงหนวด Elegant”

 

เดิมทีทางทีมงานมีความตั้งใจที่จะสัมภาษณ์ คุณไพโรจน์ ธารารัตน์ เกี่ยวกับความเป็นมาเป็นไป ของสุนัขสายพันธุ์ Bully ตั้งแต่ในฉบับแรก แต่กว่าทีมงานจะสามารถติดต่อและขอคิวเพื่อสัมภาษณ์คุณไพโรจน์ได้นั้น เวลาก็ล่วงเลยมาจน ไม่สามารถนำมาลงได้ทันในฉบับแรก แต่ความเข้มข้นและความน่าสนใจของเนื้อหาก็คุ้มค่าสำหรับการรอคอย

 

สำหรับฉายาของคุณไพโรจน์ ธารารัตน์   มีที่มาจาก เอกลักษณ์ในการไว้หนวดที่โดดเด่นมาก ประมาณว่าเดินมาก็เห็นหนวดเด่นมาทันที และเป็นเจ้าของฟาร์มสุนัขสายพันธุ์บูลลี่ ชื่อฟาร์มว่า “Elegant” จึงกลายมาเป็นที่มาของฉายา “ลุงหนวด Elegant” โดยในช่วงแรกของการเลี้ยงสุนัขนั้น คุณไพโรจน์ได้เริ่มต้นจากการเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ดัลเมเชียนมาก่อน ตั้งแต่ปี 2537 ก็เมื่อประมาณ  20 ปีที่แล้ว ซึ่งในตอนนั้นสุนัขสายพันธุ์ดัลเมเชียน     ยังเป็นที่นิยมมากในประเทศไทย ต่อมามีรุ่นน้องได้ชวนให้มาเป็นที่ปรึกษาการในเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ Pitbull terrier ก่อน ควบคู่กับการเลี้ยง American staffordshire terrier ซึ่งสองสายพันธุ์นี้ก็คือต้นกำเนิดของสุนัขสายพันธุ์บูลลี่ และหลังจากนั้นก็นำเข้าและเลี้ยงสุนัขในแนวทางนี้ มาเรื่อยๆ จนค่อยๆ มีวิวัฒนาการตามความนิยมมาจนเป็น American Bully 

 

แล้วก็มาเข้าเรื่องที่มาที่ไปของสุนัขสายพันธุ์บูลลี่ ซึ่งคุณไพโรจน์ได้เล่าให้เราฟังว่า สำหรับการพัฒนาสุนัขสายพันธุ์บูลลี่ เริ่มแรกนั้นพัฒนามาจากสุนัขสายพันธุ์ American Pitbull terrier และผู้ที่เรียกชื่อ American Bully คนแรกก็คือเจ้าของคอก Razors Edge ชื่อ Dave Wilson ได้พัฒนาสุนัขสายพันธุ์นี้โดยการเอา American Pitbull terrier มาผสมกับ American staffordshire terrier เพื่อดึงลักษณะความล่ำสันที่มีมากขึ้นแต่ยังคงมีกลิ่นอายของ American Pitbull terrier และลดความก้าวร้าวของ American  Pitbull terrier ลงมา เพื่อให้เหมาะแก่การเป็นสัตว์เลี้ยงมากขึ้น จาก  20 ปีที่แล้วมาจนถึงปัจจุบันสุนัขสายพันธุ์บูลลี่ ก็มีการพัฒนามาเรื่อยๆ และเปลี่ยนแปลงตลอด และถ้าหากพูดถึงในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ารูปแบบของ Bully ค่อนข้างที่จะมีความหลากหลายมาก อีกทั้งยังมีสารพัดขนาด ซึ่งเป็นเสน่ห์ของสุนัขสายพันธุ์บูลลี่ ทำให้คนหลงใหลและสามารถเลือกเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์บูลลี่ในรูปแบบที่ตนเองชอบได้ไม่ซ้ำกัน 

 

หากพูดถึงลักษณะนิสัยของเจ้าบูลลี่นั้น ถึงแม้สุนัขบูลี่จะมีการพัฒนาสายพันธุ์มาจากสุนัข Pitbull terrier  ซึ่งหลายๆ ท่านอาจมองว่าเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่มีนิสัยค่อนข้างดุร้าย แต่ในความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นสุนัขสายพันธุ์ใดก็ตาม การเลี้ยงดูของผู้เลี้ยงนั้นก็เป็นส่วนส่งผลต่อลักษณะนิสัยสุนัขนั้นๆ ด้วยเช่นกัน สำหรับ Pitbull terrier จะดุร้ายกับสุนัขด้วยกัน เนื่องจากเป็นสุนัขที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการต่อสู้ ในเกมส์กัดกันของสุนัขแต่ไม่ได้ดุร้ายกับคน เพราะฉะนั้นก็ออย่าไปฝังใจว่าสุนัขสายพันธุ์ Pitbull terrier เป็นสายพันธุ์ที่ดุร้ายกับคน  สำหรับ Bully นั้นได้ถูกพัฒนาสายพันธุ์ให้มีความก้าวร้าวลดลงและเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านได้อย่างปลอดภัย ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ความดุร้ายแทบจะไม่มีเหลือให้เห็นเลยในตัวของสุนัขบูลลี่

 

ในปัจจุบันที่เห็นว่าสุนัขบูลลี่แต่ละตัวมีลักษณะรูปร่างหน้าตาที่แตกต่างกันออกไปนั้น หากพูดถึงเรื่องของมาตรฐานสายพันธุ์ และประเภทของสุนัขบูลลี่นั้น ในปัจจุบันมีสมาคมเกี่ยวกับสุนัขสายพันธุ์  American Bully มี 2 สมาคมหลักในอเมริกา คือ UKC กับ ABKC และยังมีสมาคมเล็กๆ ย่อยๆ อีกประมาณ10 กว่าสมาคม  แต่หากพูดถึงลักษณะที่กำหนดโดย 2 สมาคมนี้ Bully จะถูกแยกลักษณะออกไปเป็น 5  Class ซึ่ง Class ดังกล่าวถูกแบ่งแยกตามขนาดและส่วนสูงของสุนัข ได้แก่

1. Standard Class 

2. Classic Class

3. Pocket Class 

4. Extreme Class 

5. XL Class 

 

นอกจาก bully ในลักษณะที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังจะมีลักษณะที่เรียกว่า Exotic bully ซึ่งมีรูปร่างลักษณะแตกต่างออกไปในลักษณะของ Freak dog อาจจะมีลักษณะกึ่งๆ French Bulldog หรือ Bulldog ซึ่งมีหลายๆ คอก หลายๆ ค่ายในอเมริกาที่ทำลูกผสมออกมา ลักษณะและขนาดจะถูกย่อส่วนลงมาแต่มีทรงหัวและกระดูกที่ใหญ่มากขึ้น แต่ก็จะอิงไปในลักษณะของลูกผสมมากกว่าที่จะเป็น American Bully สไตล์เดิม

 

สำหรับการเลี้ยงดูสุนัขสายพันธุ์บูลลี่ หรือแม้กระทั่งสุนัขหลายๆ สายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ซึ่งอาจไม่เหมาะสมกับอากาศบ้านเราเพราะอากาศร้อนจัด  การจะเลี้ยงบูลลี่ ให้ดูล่ำสันมีกล้ามเนื้อ ไม่ใช่เลี้ยงให้อ้วน  วิธีการเลี้ยงที่จะทำให้สุนัขมีโอกาสเจริญเติบโตมาในลักษณะบูลลี่ที่เราต้องการ ควรเลี้ยงในพื้นที่จำกัดเช่น กรง และปล่อยเป็นเวลาเพื่อให้ออกกำลังกายและปรับตัวต่ออากาศ ซึ่งบ้านเราอากาศร้อนหากปล่อยสุนัขตลอดเวลา สุนัขก็จะเหนื่อยและกินน้ำเยอะ ทำให้สุนัขมีความอยากอาหารน้อยลง  ดังนั้นเปอร์เซ็นต์ที่สุนัขจะเติบโตมามีลักษณะบูลลี่ มีโอกาสค่อนข้างน้อย หลายคนมักจะมีคำถามว่า ทำอย่างไรสุนัขที่ตนเลี้ยงจึงจะบูลลี่ได้ ปัจจัยหลักมีอยู่ 3 อย่าง คือ 

1. สายพันธุ์ที่ดี

2. อาหารที่ดี

3. ที่อยู่ที่ดี  ไม่จำเป็นต้องอยู่ห้องที่ติดเครื่องปรับอากาศ แต่ขอให้อากาศถ่ายเทสะดวกและค่อนข้างเย็น

 

 

ในปัจจุบันสุนัขบูลลี่เป็นที่นิยมค่อนข้างมากในเมืองไทย ประกอบกับลักษณะรูปร่างที่หลากหลายสามารถเลือกเลี้ยงตามความชอบแต่ละบุคคล ซึ่งแนวโน้มจะยังคงเป็นที่นิยมและอยู่ในกระแสอีกนาน สิ่งที่คุณไพโรจน์อยากจะฝากทิ้งท้ายถึงผู้เลี้ยง และผู้เพาะพันธุ์สุนัขก็คือ เรื่องของการพัฒนาสายพันธุ์สุนัข ซึ่งในการพัฒนานั้นควรมุ่งเน้นพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นไม่ใช่นำสุนัขที่ลักษณะด้อยหรือมีความพิการบางอย่าง มาใช้ในการผสมพันธุ์ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการทำลายสายพันธุ์ ไม่ได้เป็นการทำให้สายพันธุ์ดีขึ้น ซึ่งในอนาคตสุนัขเหล่านี้จะอยู่ในสิ่งแวดล้อมบ้านเราไม่ได้และใช้ชีวิตในบ้านเราไม่ได้ หากนำเอาสุนัขลักษณะที่มีผิดเพี้ยนมากๆ นำมาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

และนี้คือที่มาที่ไปของสุนัขสายพันธุ์ บูลลี่ จากคุณไพโรจน์ ธารารัตน์ ซึ่งในครั้งหน้าทางทีมงาน Dog Company จะนำข้อมูลเกี่ยวกับสุนัขสายพันธุ์บูลลี่ในแง่มุมอื่นๆ รวมทั้งเรื่องราวของฟาร์ม Elegant ของคุณไพโรจน์ ธารารัตน์ และพ่อพันธุ์ตัวเก่ง เจ้า Nitrous ของคุณไพโรจน์ มานำเสนอแก่เพื่อนๆ ผู้รักและชื่นชอบในสุนัขสายพันธุ์นี้อย่างแน่นอนอย่าลืมติดตามกันนะครับ

 

bottom of page